การแจ้งลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ กรณีบุคคลทั่วไป

การแจ้งลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ กรณีบุคคลทั่วไป

การแจ้งลิขสิทธิ์ซอฟแวร์ กรณีบุคคลทั่วไป

คุณเคยได้ยิน คำถามเหล่านี้ไหม? 
“ราคาเท่าไร ต่อราคาได้ไหม” 
“แก้งานได้ไม่อั้นเลยหรือเปล่า” 
“โทรไปทำไมไม่รับสาย” 
“งานจะเสร็จเมื่อไร” 
“SOFTWARE ที่ได้ใครเป็นเจ้าของ”

คำถามเหล่านี้ เหล่าโปรแกรมเมอร์อิสระมักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ โดยเมื่อโปรแกรมเมอร์อิสระสร้างสรรค์เทคโนโลยีหรือชิ้นงานเสร็จออกมาแล้ว ผลงานเหล่านั้นก็จะกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา โดยสิ่งที่สำคัญในการรักษาทรัพย์สินทางปัญญานั่นก็คือการจดลิขสิทธิ์นั่นเอง

สถานการณ์จำลอง

นายสมคิด รักอิสระ และนายกล้าหาญ คิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นเพื่อนรักกัน และมีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์อิสระเหมือนกัน ทั้งสองคนมีสัญชาติไทย โดยสมคิดอาศัยอยู่ที่บ้านแถวห้วยขวาง และกล้าหาญอาศัยอยู่แถวจตุจักร ตอนนี้ทั้งสองคนได้คิดโปรแกรมจัดการระบบการเงินใกล้เสร็จแล้ว แต่ถ้าต้องการแสดงให้รู้ว่า ใครเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และมีขอบเขตการใช้งานอะไรบ้าง นักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็ควรใส่ ข้อตกลงการใช้งานซอฟต์แวร์ หรือ Software License Agreement ด้วย อย่างในกรณีนี้ สมคิดได้เขียนข้อตกลงการใช้งานซอฟต์แวร์ไว้ว่า ผู้ใช้งานสามารถทดลองใช้ได้ฟรี 30วัน และหลังจากนั้นถ้าต้องการใช้งานต่อ ให้ติดต่อผู้พัฒนา ต่อมา สมคิดกับกล้าหาญก็ทำโปรแกรมเสร็จ หลังจากนั้น นายกล้าหาญได้นำโปรแกรมที่คิดค้นร่วมกับนายสมคิดขึ้นไปโพสต์บน facebook ด้วยความเคยชิน โดยใช้ชื่อโปรแกรมว่า 2Financial Systems เพื่อแชร์ให้เพื่อนๆ ลอง ทดสอบใช้งานกัน จนอยู่มาวันหนึ่ง ก็มีบริษัทมีโชค ซอฟต์แวร์ เข้ามาพบโปรแกรมที่นายกล้าหาญได้โพสต์ไว้ ด้วยฟังก์ชันการใช้งานของโปรแกรมที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงทำให้บริษัทฯ เกิดความสนใจ และเล็งเห็นว่าเป็นโปรแกรมที่ดีและต้ องทำเงินให้บริษัทฯ ได้ไม่น้อยแน่ๆ ดังนั้น บริษัทฯ จึงทำการ Copy และจัดจำหน่ายโปรแกรมนี้ออกไป เมื่อนายสมคิดทราบเรื่องว่าโปรแกรมของตนถูกนำไปจัดจำหน่าย เขาจึงเกิดความสงสัยว่า… แบบนี้ ใครจะเป็นเจ้าของโปรแกรมตัวจริงกันแน่?

เจ้าของโปรแกรมตัวจริงก็คือ นายสมคิด รักอิสระ และนายกล้าหาญ คิดสร้างสรรค์ เพราะ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 ได้กล่าวไว้ว่า ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น และทั้งนายสมคิดและนายกล้าหาญเองก็จึงทำให้ถือสัญชาติไทย อาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงทำให้ทั้งสองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรม 2Financial Systems ในกรณีนี้ถึงแม้นายสมคิดและนายกล้าหาญจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าจะให้ดีทั้งคู่ควรไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ให้ถูกต้อง เพราะถ้าหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา จะได้ไม่ต้องยุ่งยากในการหาหลักฐานมายืนยัน และถ้าทั้งคู่จะนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์นี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ก็จะได้สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เราจึงควรไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์นั้นง่ายมาก เพียงแค่เข้าไปที่ www.sipa.or.th แล้วคลิกที่ดาวน์โหลด จากนั้นคลิกที่คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยเมื่อได้คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์มาแล้ว ก็ให้พิมพ์ออกมาจำนวน 2 ชุด แล้วกรอกรายละเอียดดังนี้

ในช่องประเภทงานอันมีลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าเป็นวรรณกรรม เนื่องจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นงานวรรณกรรมอย่างหนึ่ง

  • ช่องหมายเลข 1 ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ในตัวอย่างข้างต้นนี้ นายสมคิด รักอิสระ และนายกล้าหาญ คิดสร้างสรรค์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นให้ระบุเป็นชื่อของนายสมคิด รักอิสระ และนายกล้าหาญ คิดสร้างสรรค์ พร้อมสัญชาติ หมายเลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และถ้าหากมีเบอร์โทรสารก็ให้ใส่ด้วย
  • ช่องหมายเลข 2 กรอกในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์มายื่นจดเองไม่ได้ และต้องมอบอำนาจให้ตัวแทนมาดำเนินการแทน
  • ช่องหมายเลข 3 ให้ระบุสถานที่และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิ์หรือตัวแทน เพื่อสะดวกในการติดตามเอกสารและผลงาน กรณีเอกสารและผลงานไม่ครบ
  • ช่องหมายเลข 4 ให้ใส่ชื่อผู้สร้างสรรค์อาจจะเป็นตัวบุคคล หรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ แต่ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้วให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต สำหรับตัวอย่างนี้เป็นบุคคลธรรมดาและยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นให้ระบุชื่อ สัญชาติ เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรสาร และวันเดือนปีเกิดของผู้สร้างสรรค์
  • ช่องหมายเลข 5 หากมีผู้สร้างสรรค์มากกว่า 1 คน ให้ระบุเพิ่มในช่องนี้ โดยให้ระบุชื่อ สัญชาติ เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และเบอร์โทรสาร
  • ช่องหมายเลข 6 ในช่องนี้ให้ระบุชื่อผลงาน ท่านควรตรวจสอบคำสะกดให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการระบุในหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล
  • ช่องหมายเลข 7 ให้ระบุประเภทของงานและลักษณะงานที่จะยื่นแจ้งข้อมูลพร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบคำขอด้วย ซึ่งในที่นี้เป็นวรรณกรรม ลักษณะงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบ อย่างในตัวอย่างนี้ จะเป็นซีดีรอมที่บรรจุ Source Code (5 หน้าแรกและ 5 หน้าหลัง)
  • ช่องหมายเลข 8 ให้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อย่างไร ในตัวอย่างนี้ ต้องระบุว่า “เป็นผู้สร้างสรรค์เอง”
  • ช่องหมายเลข 9 ให้ระบุว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานเองทั้งหมดหรือไม่ หรือถ้าเป็นผู้รวบรวมผลงาน, ดัดแปลงงานก็ให้ระบุด้วย ซึ่งในตัวอย่างนี้ นายสมคิดและนายกล้าหาญ เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาเองทั้งหมด
  • ช่องหมายเลข 10 ให้ระบุว่าสร้างสรรค์ผลงานขึ้นที่ประเทศใด หากสร้างสรรค์ที่ประเทศมาเลเซีย ก็ให้ใส่ประเทศมาเลเซีย แต่ตัวอย่างนี้ สร้างสรรค์กันที่ประเทศไทย
  • ช่องหมายเลข 11 ให้ระบุวันเดือนปีที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา
  • ช่องหมายเลข 12 ให้ระบุ วัน เดือน ปีและประเทศที่มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ในกรณีนี้ได้มีการโฆษณาเผยแพร่โปรแกรมผ่าน Facebook เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ที่ประเทศไทยก็ให้ระบุ วัน เดือน ปีและประเทศที่มีการโฆษณา
  • ช่องหมายเลข 13 ให้ระบุว่าเคยแจ้งหรือจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศหรือไม่ หากไม่เคยให้ติ๊กที่ช่อง ไม่เคยแจ้งหรือจดทะเบียน
  • ช่องหมายเลข 14 ให้ระบุว่าเคยอนุญาตให้คนอื่นใช้ลิขสิทธิ์หรือโอนลิขสิทธิ์มาก่อนหรือไม่ ในกรณีที่ไม่เคยให้ติ๊กที่ช่อง ไม่เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์
  • ช่องหมายเลข 15 ให้ระบุว่าอนุญาตให้คนอื่นตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์หรือผลงานหรือไม่ ถ้าหากไม่ต้องการให้ติ๊กที่ช่อง ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้บุคคลใดตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอฯ และผลงานของข้าพเจ้า เมื่อกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนลงชื่อ และวันที่ที่ยื่นเอกสาร

สำหรับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ ให้ท่านระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ แล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนเป็นผู้ลงชื่อ

ในส่วนของหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ทะเบียนนิติบุคคล ประเภทของงานลิขสิทธิ์ ชื่อผลงาน และระบุวันที่ยื่นคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในช่องชื่อผลงานนั้น จะต้องตรงกับช่องหมายเลข 6 ในใบ คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์ลงนามเท่านั้น


เมื่อกรอกรายละเอียดครบทั้ง 2 ชุดแล้ว จะต้องเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ดังนี้ 
   1. คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ จำนวน 2ฉบับ 
   2. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ 
   3. ผลงาน ซึ่งก็คือ ซีดีรอมที่บรรจุ Source Code 5 หน้าแรกและ 5 หน้าหลัง 
   4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งก็คือสมคิดและกล้าหาญ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง 
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นที่ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)