ลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่หลายคนมักมองข้าม และไม่ค่อยให้ความสำคัญ โดยมักจะเข้าใจผิดอยู่เสมอ อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น งานสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นมานั้น ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือวิธีการจดลิขสิทธิ์ต้องทำอย่างไร ท่านทราบกันหรือไม่
บริษัท มาฉลอง คอมพิวเตอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี โดยมีกรรมการบริษัททั้งหมด 3 ท่าน ซึ่งนายมานะ ฉลองการณ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียว ต่อมา บริษัทฯ ได้รับนายอภิชาติเข้ามาทำงานในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ และให้นายอภิชาติเซนสัญญาเป็นพนักงานของบริษัท มาฉลอง คอมพิวเตอร์ จำกัด เมื่อนายอภิชาติมาทำงานก็ได้รับมอบหมายงานให้เขียนโปรแกรมที่มีชื่อว่า Easy ERP
วันเวลาผ่านไป อภิชาติก็ตั้งใจทำงานเขียนโปรแกรม Easy ERP จนสำเร็จ แต่…นายอภิชาติเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ยังไม่ได้ทำ Software license agreement เพื่อเป็นการอธิบายข้อตกลงในการใช้งานโปรแกรม และเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่หัวหน้าอนันต์ได้สั่งไว้ นายอภิชาติจึงรีบทำงานต่อให้เสร็จ โดยในขณะที่นายอภิชาติต้องนั่งทำ Software license agreement อยู่นั้น นายอภิชาติก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า จะต้องระบุให้ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมนี้
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้ บริษัท มาฉลอง คอมพิวเตอร์ จำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพราะตามกฎหมายลิขสิทธิ์บอกว่า ลิขสิทธิ์ของงานย่อมเป็นของคนที่สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมา เว้นแต่ว่าจะมีการทำข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น ซึ่งในเหตุการณ์นี้ ท่านจะเห็นว่าก่อนที่บริษัทฯ จะให้นายอภิชาติเข้ามาทำงานนั้น บริษัทฯได้ให้นายอภิชาติเซ็นข้อตกลงในสัญญาจ้างงาน ซึ่งในนั้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ลิขสิทธิ์ผลงานทั้งหมดเป็นของนายจ้าง ซึ่งในที่นี้คือ บริษัท มาฉลอง คอมพิวเตอร์ จำกัดนั่นเอง ถึงแม้ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน แต่ทว่าหากเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นมา ผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะต้องยุ่งยาก หาหลักฐานมายืนยัน แต่ถ้าหากจดแจ้งลิขสิทธิ์กันแต่แรก ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์นั้นง่ายมาก เพียงแค่เข้าไปที่ www.sipa.or.th แล้วคลิกที่ดาวน์โหลด จากนั้นคลิกที่คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยเมื่อได้คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์มาแล้ว ก็ให้พิมพ์ออกมาจำนวน 2 ชุด แล้วกรอกรายละเอียดดังนี้
ในช่องประเภทงานอันมีลิขสิทธิ์ ให้ระบุว่าเป็นวรรณกรรม เนื่องจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นงานวรรณกรรมอย่างหนึ่ง
สำหรับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ ให้ท่านระบุวิธีการและขั้นตอนในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ แล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนเป็นผู้ลงชื่อ
ในส่วนของหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่อยู่ ทะเบียนนิติบุคคล ประเภทของงานลิขสิทธิ์ ชื่อผลงาน และระบุวันที่ยื่นคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในช่องชื่อผลงานนั้น จะต้องตรงกับช่องหมายเลข 6 ในใบ คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์แล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์ลงนามเท่านั้น
เมื่อกรอกรายละเอียดครบทั้ง 2 ชุดแล้ว จะต้องเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ดังนี้
1. คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ จำนวน 2ฉบับ
2. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์
3. ผลงาน ซึ่งก็คือ ซีดีรอมที่บรรจุ Source Code 5 หน้าแรกและ 5 หน้าหลัง
4. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งก็คือสมคิดและกล้าหาญ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้นำเอกสารทั้งหมดไปยื่นที่ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)