การแจ้งลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ กรณีนักศึกษา

การแจ้งลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ กรณีนักศึกษา

การแจ้งลิขสิทธิ์ซอร์ฟแวร์ กรณีนักศึกษา

การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาโดยใช้สติปัญญาความรู้ความสามารถ ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญา แต่อาจจะโดนคนอื่นก๊อปปี้เอาไปขาย ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันผลงาน เราจึงควรมีการจดลิขสิทธิ์ แต่จะมีใครบ้างที่จะเข้าใจกฎหมายลิขสิทธิ์ และขั้นตอนการจดลิขสิทธิ์

สถานการณ์จำลอง

แพรไหม รักเรียน นักเรียนชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัย A ถือสัญชาติไทย อาศัยอยู่แถวสีลม กรุงเทพฯแพรไหม กำลังพัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรม Mega Clever Photoซึ่งเป็นโปรแกรมตกแต่งภาพ นำเสนอเป็นโปรเจคนักศึกษา โดยมีอาจารย์คอยให้คำปรึกษา ในที่สุดแพรไหมสามารถสอบผ่านและเรียนจบ อาจารย์เห็นว่าโปรแกรมที่แพรไหมพัฒนาขึ้นเป็นโปรแกรมที่ดี เลยแนะนำให้แพรไหมส่งเข้าประกวดในงาน Software แห่งชาติ แต่อาจารย์ให้แพรไหมกำหนดข้อตกลงในการใช้ซอฟต์แวร์ หรือ Software License Agreement โดยให้ใส่ไว้ที่หน้าแรกของการติดตั้งโปรแกรม เพื่อเป็นการอธิบายข้อตกลงในการใช้งานโปรแกรม Mega Clever Photo และเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย โดยให้แพรไหมส่งเข้าประกวดในนามมหาวิทยาลัย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางและค่าที่พัก ปรากฏว่าโปรแกรม Mega Clever Photo ของแพรไหมได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด

สำหรับสถานการณ์จำลองนี้ แพรไหม ถือว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรม Mega Clever Photo เพราะในพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พุทธศักราช 2537 มาตรา 8 ได้กล่าวไว้ว่า ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งโปรแกรม Mega Clever Photo อยู่ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา และ แพรไหมเองก็ถือสัญชาติไทย อาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงทำให้แพรไหมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ Mega Clever Photo โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ดีแพรไหมกควรไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถ้าหากมีการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ก็จะสามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยวิธีการจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพียงแค่ท่านเข้าไปที่ www.sipa.or.th แล้วคลิกที่ดาวน์โหลด จากนั้นคลิกที่คำข้อแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เมื่อได้คำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์มาแล้ว ก็ให้พิมพ์ออกมาจำนวน 2 ชุด แล้วกรอกรายละเอียดดังนี้

ในช่องประเภทงานอันมีลิขสิทธ์ ให้ระบุว่าเป็นวรรณกรรม เนื่องจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นงานวรรณกรรมอย่างหนึ่ง

  • ช่องหมายเลข 1 ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ในตัวอย่างข้างต้นนี้ นางสาวแพรไหม รักเรียน เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้นให้ระบุเป็นชื่อนางสาวแพรไหม รักเรียน ตามด้วยสัญชาติ เลขประตัวประชาชน 13 หลัก ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และหากมีโทรสารก็ให้ใส่เบอร์โทรสารด้วย
  • ช่องหมายเลข 2 ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์มายื่นจดเองไม่ได้ ต้องมอบอำนาจให้ตัวแทนมาดำเนินการแทน สมมุติว่าในกรณีนี้ แพรไหม ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วยตัวเองได้ จึงมอบอำนาจให้นายยิ่งยศ รักเรียน ซึ่งเป็นพี่ชายมาจดลิขสิทธิ์แทน ดังนั้นในช่องนี้ ให้ระบุชื่อสัญชาติ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และ เบอร์โทรสารของตัวแทน และต้องเตรียมเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ หนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 30 บาท และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายยิ่งยศ พร้อมรับรองสำเนา
  • ช่องหมายเลข 3 ให้ระบุสถานที่และเบอร์โทรศัพท์ที่มารถติดต่อเจ้าของสิทธิ์หรือตัวแทน เพื่อสะดวกในการติดตามเอกสารรวมถึงผลงาน ในกรณีเอกสารและผลงานไม่ครบถ้วน
  • ช่องหมายเลข 4 ให้ใส่ชื่อผู้สร้างสรรค์ อาจจะเป็นตัวบุคคล หรือเป็นนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตแล้วให้ระบุ วัน เดือน ปี ที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต แต่สำหรับตัวอย่างนี้ เป็นบุคคลธรรมดาและยังมีชีวิติอยู่ ซึ่งก็คือแพรไหม ดังนั้นให้ระบุชื่อ สัญชาติ เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ เบอร์โทรสาร และวันเดือนปีเกิดของผู้สร้างสรรค์
  • ช่องหมายเลข 5 หากมีผู้สร้างสรรค์มากกว่า 1 คน ให้ระบุเพิ่มในช่องนี้ แต่ในกรณีนี้มีเพียงคนเดียว จึงไม่ต้องกรอก
  • ช่องหมายเลข 6 ในช่องนี้ให้ระบุชื่อ ผลงาน ซึ่งท่านควรตรวจสอบคำสะกดให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการระบุหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูล
  • ช่องหมายเลข 7 ให้ระบุประเภทของงานและลักษณะงานที่จะยื่นแจ้งข้อมูลพร้อมระบุผลงานที่ยื่นประกอบคำขอ ซึ่งในที่นี้เป็นวรรณกรรม ลักษณะงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมระบุผลงานที่ยืนประกอบ อย่างในตัวอย่างนี้ จะเป็นซีดีรอมที่บรรจุ Source Code (5 หน้าแรก 5 หน้าหลัง)
  • ช่องหมายเลข 8 ให้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้อย่างไร ในตัวอย่างนี้ ต้องระบุว่า “ เป็นผู้สร้างสรรค์เอง”
  • ช่องหมายเลข 9 ให้ระบุว่าเป็นผู้สร้างสรรค์เองทั้งหมดหรือไม่ หรือถ้าเป็นผู้รวบรวมผลงาน, ดัดแปลงงานก็ให้ระบุด้วย ซึ่งในตัวอย่างนี้ แพรไหม เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาเองทั้งหมด
  • ช่องหมายเลข 10 ให้ระบุว่าผลงานสร้างสรรค์ผลงานขึ้นที่ประเทศใด หากสร้างสรรค์ขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ก็ให้ใส่ประเทศอังกฤษ แต่ตัวอย่างนี้ สร้างสรรค์กันที่ประเทศไทย ก็ให้ใส่ประเทศไทย
  • ช่องหมายเลข 11 ระบุวันเดือนปีที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา
  • ช่องหมายเลข 12 ระบุวัน เดือน ปีและประเทศที่มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แต่หากยังไม่เคยโฆษณาให้ติ๊กช่อง ยังไม่ได้โฆษณา
  • ช่องหมายเลข 13 ให้ระบุว่าเคยแจ้งหรือจดทะเบียนลิขสิทธิ์ในต่างประเทศหรือไม่ หากไม่เคย ให้ติ๊กที่ช่อง ไม่เคยแจ้งหรือจดทะเบียน
  • ช่องหมายเลข 14 ให้ระบุว่าเคยอนุญาตให้คนอื่นใช้ลิขสิทธิ์หรือโอนลิขสิทธิ์มาก่อนหรือไม่ ในกรณีนี้ไม่เคย ให้ติ๊กที่ช่องไม่เคยอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์/โอนลิขสิทธิ์
  • ช่องหมายเลข 15 ให้ระบุว่าอนุญาตให้คนอื่นตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอแจ้งข้อมูล ลิขสิทธิ์หรือผลงานหรือไม่ ถ้าหากไม่ต้องการ ให้ติ๊กที่ช่อง ข้าพเจ้าไม่อนุญาตให้บุคคลใดตรวจดูเอกสารในแฟ้มคำขอฯ และผลงานของข้าพเจ้า เมื่อกรอกรายละเอียดครบถ้วนแล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทนลงชื่อ และวันที่ที่ยื่นเอกสาร

สำหรับแบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานโดยย่อ ให้ท่านใส่แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา จากนั้นให้เจ้าของลิขสิทธิ์หรือตัวแทน ลงชื่อ พร้อมวัน ที่ที่ยื่นเอกสาร

ในส่วนของหนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ระบุชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์, ที่อยู่, ประเภทของงานลิขสิทธิ์ ชื่อผลงาน และระบุวันที่ยื่นคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในช่องของชื่อผลงานนั้น จะต้องต่างกับช่องหมายเลข 6 ในใบคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ แล้วให้เจ้าของลิขสิทธิ์ลงนาม และวันที่


เมื่อท่านกรอกรายละเอียดครบทั้ง 2 ชุดแล้ว ท่านจะต้องจัดเตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการจดแจ้งลิขสิทธิ์นี้ 
   1. คำข้อแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ จำนวน 2 ฉบับ 
   2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของลิขสิทธิ์ 
   3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของตัวแทน 
   4. หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ 
   5. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 30 บาท 
   6. ผลงาน ซึ่งก็คือ ซีดีรอมที่บรรจุ Source Code 5 หน้าแรกและ 5 หน้าหลัง 
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ให้ไปยื่นเอกสารทั้งหมดที่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)