สถาบันการเงิน "อยากรู้อะไรในแผนธุรกิจ" ที่ SMEs ควรรู้

แผนธุรกิจไม่เพียงแต่จะเป็นเข็มทิศนำทางให้ผู้ประกอบการบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีให้แก่ธุรกิจแผนธุรกิจยังเป็น "เอกสารสำคัญ" ที่สถาบันการเงินจะใช้พิจารณาประกอบการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ธุรกิจด้วย 

ในภาพรวมของแผนธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะแผนธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ควรมีลักษณะของแผนธุรกิจและโครงสร้างในแผนเป็นอย่างไร มีกรอบหรือแนวทางในการจัดทำให้ถูกต้องตามมาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของสถาบันการเงินเพื่อที่จะเข้าหลักพิจารณา และเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ SMEs ได้อย่างไร โดยเฉพาะในเวลาที่ผู้ประกอบการ SMEs มีความต้องการที่จะขยายการลงทุน เพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องขอสินเชื่อและต้องให้ทันตามกำหนดแผนงานของบริษัทฯ หากการนำเสนอแผนธุรกิจในลักษณะที่เร่งรีบจนเกินไป และไม่มีความแนวทางที่ถูกต้องก็จะทำให้การจัดทำแผนธุรกิจยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน อาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ หากแผนธุรกิจที่สถาบันฯ ไม่ถูกต้องตามเกณฑ์ที่สถาบันการเงินกำหนด ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีต้องมีการพิจารณาแก้ไขใหม่อีกครั้ง ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสทางธุรกิจได้ จึงทำให้ประเด็น หรือหัวข้อหลักๆ ที่ ผู้ประกอบการ SMEs ควรรู้ มีอะไร ทาง Moosanam.Com จึงขอนำมาเรียบเรียงเสนอ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการมีโอกาสได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ จากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะรายละเอียดเพิ่มเติมบางประการที่สถาบันการเงินเห็นว่าผู้ประกอบการควรระบุไว้ในแผนธุรกิจให้ชัดเจน ดังนี้ 

1. แผนธุรกิจที่ดี ควรเป็นแผนที่ผู้ประกอบการลงมือเขียนด้วยตนเองเนื่องจากเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดและข้อมูลต่างๆ ของธุรกิจมากที่สุด และองค์ประกอบที่สำคัญของแผนธุรกิจ คือ การวิเคราะห์สมมติฐานและความเป็นไปได้ของโครงการนั้นๆ โดยเฉพาะในด้านการตลาดและการเงิน 

2. ปัจจัยขององค์ประกอบที่มีผลต่อการพิจารณาของสถาบันการเงิน ทั้งผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการใหม่ได้แก่ ประสบการณ์ในการดำเนินงาน ความรู้ความชำนาญ นอกจากนี้สถาบันการเงินยังพิจารณาถึงปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เช่น คณะผู้บริหาร ตลาด คู่แข่งขันทางธุรกิจ กระบวนการผลิต กรอบเงื่อนไขด้านระยะเวลา ขนาดของการลงทุน ความสามารถในการชำระหนี้คืนในระยะเวลาที่เหมาะสม หลักประกันความเสี่ยง วิธีการควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และควรระบุปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจซึ่งจะเป็นตัวสรุปภาพรวมของธุรกิจให้เห็นอย่างชัดเจน 

3. สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ โดยพิจารณาทั้งในระดับมหภาค(Macroeconomic) ประกอบด้วย สภาวะเศรษฐกิจโลก แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม สถาพทางสังคม ปัจจัยโอกาสทางธุรกิจหรือภัยคุกคามและระดับจุลภาค( Microeconomic) ประกอบด้วยศักยภาพของบริษัท เป้าประสงค์ จุดขายของธุรกิจ ลักษณะสินค้า/บริการ 

4. การบริหารจัดการบุคลากร ควรระบุแผนผังโครงสร้างการบริหารของพนักงานทุกระดับและการแบ่งหน้าที่ของพนักงานแต่ละฝ่ายกระบวนการบริหารจัดการ สำหรับความน่าเชื่อถือของผู้บริหารควรให้ข้อมูลประวัติส่วนตัวประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา 

5. การตลาด ต้องระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในแนวทางหรือกลยุทธ์ในการขยายตลาดกลุ่มเป้าหมายในอนาคตด้วย 

6. การบริหารจัดการด้านกระบวนการผลิต ควรระบุกำลังและเทคนิคทางการผลิต ขบวนการผลิต นโยบายการบริหารสินค้าคงคลัง ด้านวัตถุดิบ (การจัดหา การจัดสรรและการจัดการ)สภาพของโรงงานผลิตและที่ตั้ง 

7. การบริหารระบบบัญชีและการเงิน ข้อมูลด้านการเงินและบัญชีที่แสดงในแผนธุรกิจควรเป็นงบที่เชื่อถือได้และแสดงสถานภาพทางการเงินของบริษัทได้อย่างชัดเจนเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์งบการเงินได้อย่างเป็นระบบ 

8. การวิเคราะห์ความเสี่ยงและแผนสำรอง ความเสี่ยงทางธุรกิจสามารถวิเคราะห์ได้จากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ศักยภาพของคณะผู้บริหาร แนวทางการตลาดและการบริหารการผลิต คู่แข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งในบางครั้งอาจต้องมองไปถึงความเสี่ยงระดับประเทศที่อาจมีผลต่อกิจการได้ และอาจต้องทำแผนสำรองสำหรับกรณีดังกล่าวไว้ด้วย เช่น เงินทุนสำรองยามฉุกเฉิน พนักงานทดแทน ทรัพยากรสำรองฯลฯ 

ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งหมดนี้เป็นเกณฑ์ที่ไม่ใช่มาตรฐานตายตัวของแต่ละสถาบันการเงิน แต่จะใช้เป็นเกณฑ์พื้นฐานที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรมีไว้ในแผนธุรกิจ และทำให้การนำเสนอแผนธุรกิจเป็นไปตามมาตรฐานสามารถนำเสนอรายละเอียดที่สถาบันการเงินต้องการได้อย่างครบถ้วน และช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดและใช้เวลาในการเขียนแผนธุรกิจน้อยที่สุด มีข้อมูลตรงกับความต้องการของสถาบันการเงินมากที่สุด ซึ่งก็จะทำให้สถาบันการเงินเองก็จะสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องกลับไปแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลใหม่ในภายหลัง